Diary Of The Dead เมื่อ จอร์จ เอ โรเมโร วิพากษ์สังคม ด้วยหนังซอมบี้ (BIOSCOPE Theatre)

ไม่มีใครที่พูดถึงหนังซอมบี้ โดยไม่เอ่ยชื่อของ จอร์จ เอ โรเมโร

แม้จะบอกว่าหนังซอมบี้มีต้นกำเนิดมาจากพิธีกรรมสุดหลอนของ วูดู (ที่เชื่อว่าหมอผีจะปลุกกองทัพคนตายขึ้นมาเพื่อเป็นทาสรับใช้ตน) และหนังอิตาลีเป็นผู้เปิดตัว “หนังซอมบี้” ในวงการหนัง หากคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า โรเมโรซึ่งได้สร้าง “ไตรภาคแห่งความตาย” จะกลายเป็นต้นตำรับของความคัลต์ในหนังซอมบี้ที่แท้จริง

นับจาก Night of the Living Dead (1968) ที่นับเป็นหนังซอมบี้ที่เปิดตลาดมันสู่วัฒนธรรมป็อบคัลเจอร์ จนถึง Dawn of the Dead (1978) และ Day of the Dead (1985) – 17 ปีที่โรเมโรทำหนังซอมบี้เพียง 3 เรื่อง หากพวกมันได้กลายเป็นงานคัลต์คลาสสิคจนถึงทุกวันนี้ ที่ไม่มีเพียงเพราะความสยองขวัญจากภาพซอมบี้กัดเนื้อหลุดแบบเห็นๆ เท่านั้น แต่มันยังรวมถึงการวิพากษ์สังคมในช่วงเวลาดังกล่าวของโรเมโรเองอีกด้วย

“หนังซอมบี้แต่ละภาคทำขึ้นเพื่อสะท้อนสังคมในแต่ละทศวรรษ อย่าง Night of the Living Dead คือตัวแทนของสังคมทศวรรษที่ 1960, Dawn of the Dead สะท้อนภาพของทศวรรษที่ 1970 ส่วน Day of the Dead ก็วิพากษ์วิจารณ์ทศวรรษที่ 1980” ก่อนที่ในเวลาต่อมา โรเมโรจะกลับมาทำหนังซอมบี้ไตรภาคที่สองของตัวเองหลังยุค 2000 มาแล้ว โดยเริ่มจาก Land of the Dead (2005) ที่เขาย้อนกลับมาสำรวจทศวรรษที่ 1990 ในมุมมองของเขา ตามมาด้วย Diary Of The Dead (2007) ที่โรเมโรอยากพูดถึงสือในยุคสมัยใหม่ ก่อนปิดท้ายด้วย Survival of the Dead (2009) หนังปิดไตรภาคที่สองและผลงานกำกับเรื่องสุดท้ายในชีวิตของโรเมโร ที่ตัวเขากลับสู่รากเหง้าของการทำหนังแบบทุนต่ำ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากหนังคาวบอยคลาสสิคของ วิลเลียมไวเลอร์ อย่าง The Big Country (1958)

ม้จะประสบความสำเร็จใน Land of the Dead ที่กลายเป็นหนังที่ใช้ทุนสูงสุดในชีวิตกว่า 15 ล้านเหรียญ และเป็นหนังทำเงินสูงสุดในชีวิตของตนเองด้วย (ราว 43.8 ล้านเหรียญ) กระนั้นโรเมโรก็กลับมาทำหนังฟอร์มเล็กจิ๋วตามถนัดของตนเองใน Diary Of The Dead ที่ใช้ทุนเพียง 2 ล้านเหรียญเท่านั้น!!

โดยโรเมโรพูดถึงแรงบันดาลใจในการทำ Diary Of The Dead ว่า “ก่อนจะทำ Land of the Dead ผมมีความคิดว่าอยากจะทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสื่อเกิดใหม่ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ได้กลับมาทำหนังอย่างเรียบง่ายและไม่แพง (ฮา) ผมอยากรู้ว่าตนเองยังมีความแกร่งพอที่จะทำหนังแบบกองโจรได้ไหม รวมไปถึงสำรวจเกี่ยวกับต้นกำเนิดของแนวคิดที่ตัวเองมีต่อหนังตระกูลนี้” โดยในหนังได้มีการวาง ‘ไซด์สตอรี’ ในช่วงเวลาเฟรมเดียวกันตั้งแต่เริ่มใน Night of the Living Dead จนมาถึงหนังสตูดิโออย่าง Land of the Dead อีกด้วย